ประวัติโรงเรียน

      ชื่อสถานศึกษา โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย เพชรบูรณ์  
ตั้งอยู่เลขที่ ๙๙/๙ หมู่ ๕ ตำบลน้ำชุน อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ รหัสไปรษณีย์ ๖๗๑๑๐ 
โทรศัพท์ ๐-๕๖๘-๒๔๓-๐๐ , ๐-๕๖๘-๒๔๕-๔๔  โทรสาร ๐-๕๖๘-๒๔๓-๐๐
e–mail : [email protected] ,Website http://www.Kanchanapisek.ac.th
สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเพชรบูรณ์ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ เป็นโรงเรียนแบบสหศึกษา ประเภทประจำและไป-กลับ เปิดสอนตั้งแต่ ระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๑-๖ เนื้อที่ ๑๙๑ ไร่ ๕๗ ตารางวา โดยรับนักเรียนในเขตพื้นที่บริการ ๑๐  จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก เลย พิจิตร สุโขทัย อุตรดิตถ์ แพร่ น่าน พะเยา และเชียงราย
ประวัติโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย เพชรบูรณ์
    เนื่องในมหามงคลวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ  ทรงเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติครบ ๕๐  ปี ในวันที่  ๙  มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๙ กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ จึงได้จัดตั้งโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ฯ ๙ แห่ง  กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศจัดตั้งโรงเรียนเมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๘ ใช้ชื่อครั้งแรกว่า “โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ฯ ทรงครองราชย์ครบ ๕๐ ปี  จังหวัดเพชรบูรณ์” และในวโรกาสต่อมา เมื่อวันที่  ๒๘  กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ฯ(รัชกาลที่๙) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานนามโรงเรียนชื่อ “โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย” ตามด้วยชื่อจังหวัดต่อท้าย คือ  “ โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย เพชรบูรณ์
     กรมสามัญศึกษาได้แต่งตั้งให้  นายชัยณรงค์  เทียนสีม่วง ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้บริหาร เป็นคนแรก ตั้งแต่วันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๘ ถึง วันที่ ๑๕ ธันวาคม  พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้เปิดทำการสอนตั้งแต่วันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ โดยได้รับความร่วมมือจากสถาบันราชภัฎเพชรบูรณ์ ให้ใช้อาคารเรียนและหอพักเป็นการชั่วคราว โดยมีนายวิพากย์  โรจนแพทย์  ผู้อำนวยการสามัญศึกษาจังหวัดเพชรบูรณ์  ในขณะนั้น  เป็นผู้ดูแลติดต่อประสานงานและให้ความช่วยเหลือแก่ทางโรงเรียนตลอดเวลา  เดิมเป็นโรงเรียนแบบสหศึกษาประเภทประจำทั้งหมด  สังกัดกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ  ในวันที่  ๒๖ กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๔๐ ได้รับพระราชทานแผ่นศิลาฤกษ์  จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ ในวันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๐  โดยนายสุรพร  ดนัยตั้งตระกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  เป็นประธานดำเนินการก่อสร้างโดยห้างหุ้นส่วนจำกัด นาคประทินก่อสร้าง และได้ย้ายนักเรียนมาเรียนยังที่ตั้งของโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัยเพชรบูรณ์ มีเนื้อที่  ๑๙๑  ไร่  ๕๗ ตารางวา ในวันที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๐  ซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้าง โดยได้รับการสนับสนุนอาคารเรียนและหอพักชั่วคราว จาก ส.ส.ไพศาล  จันทรภักดีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  เขต ๒ ในขณะนั้น ต่อมากรมสามัญศึกษาได้แต่งตั้งนายฉกรรจ์ แน่นอุดร ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นคนที่ ๒ ตั้งแต่ วันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ ถึงวันที่  ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ 
        เมื่อวันที่  ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี  เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดป้ายโรงเรียนและทอดพระเนตรนิทรรศการการจัดการเรียนการสอนยังความปลื้มปิติยินดีแก่ชาวกาญจนาภิเษกวิทยาลัย เพชรบูรณ์ เป็นล้นพ้น
         ปัจจุบันโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย เพชรบูรณ์ เป็นโรงเรียนแบบสหศึกษา ประเภทประจำและไป-กลับ  สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต ๔๐ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ โดยรับนักเรียนในเขตพื้นที่บริการ ๑๐  จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก เลย พิจิตร สุโขทัย อุตรดิตถ์ แพร่ น่าน พะเยา และเชียงราย  โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย เพชรบูรณ์ มุ่งพัฒนาคุณภาพผู้เรียนคุณภาพครู สู่ความเป็นเลิศ สร้างสุภาพบุรุษ สุภาพสตรี วิถีกาญจนาภิเษกวิทยาลัย 
บริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม  ก้าวสู่มาตรฐานสากล

(สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี  เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดป้ายโรงเรียน และทอดพระเนตรนิทรรศการการจัดการเรียนการสอน เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ )